“ศักดิ์สยาม” สั่งเช็กตัวเลข “แลนด์บริดจ์” หวั่นสูงไปฉุด EIRR ต่ำ คาด ธ.ค.ชง ครม.เห็นชอบ-ต้นปี 66 ลุยโรดโชว์ต่างชาติ

“ศักดิ์สยาม” สั่งเช็กตัวเลข ‘แลนด์บริดจ์’ ชุมพร-ระนอง หวั่นสูงไป ฉุด EIRR ต่ำ ชี้ท่าเรือสิงคโปร์สร้างแค่ 3 ปีบริหารมีประสิทธิภาพ แนะกำหนดคุณสมบัติเอกชนต้องมีพาร์ตเนอร์ครบทั้งรับเหมา, ท่าเรือ, สายเรือ, แหล่งเงิน คาดเสนอ ครม.ปลายปีนี้ ลุยโรดโชว์ต้นปี 66  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ ว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและตัวเลขการลงทุน ความคุ้มค่าต่างๆ เสร็จแล้ว ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ผลการศึกษาที่ได้ต้องนำไปปฏิบัติได้จริง ตัวเลขต่างๆ ต้องอยู่บนข้อเท็จจริง โดยนำแนวทางการพัฒนาท่าเรือของประเทศสิงคโปร์มาเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างได้ โดยพบว่าสิงคโปร์ก่อสร้างท่าเรือที่มีการถมทะเล 13 ตร.กม. โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เท่านั้น นอกจากนี้ให้พิจารณาระยะเวลาก่อสร้างผูกรวมอยู่ในอายุสัมปทานร่วมลงทุนฯ ด้วย เพื่อเป็นการเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ไม่เกิดความล่าช้าเหมือนหลายโครงการในอดีต โดยมีเป้าหมายเริ่มก่อสร้างในปี 2568  

“ขณะนี้ปลัดกระทรวงคมนาคมกำลังดูรายละเอียดการศึกษาเบื้องต้น โดยเฉพาะตัวเลขต่างๆ ที่ต้องมีความเหมาะสม และการลงทุนไม่สูงเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ต่ำ ไม่จูงใจ ขณะที่ข้อมูลท่าเรือขนาดใหญ่ของสิงคโปร์มีการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จ พบว่าในการคัดเลือกผู้ลงทุนนั้นกำหนดเงื่อนไขใน RFP ด้านคุณสมบัติ โดยให้เอกชนรวมกลุ่มกันก่อนยื่นข้อเสนอ และต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นบริษัทก่อสร้าง บริษัทบริหารจัดการท่าเรือ สายการเดินเรือ สถาบันการเงิน ร่วมในกลุ่ม เนื่องจากต้องการกลุ่มผู้ลงทุนที่มีขีดความสามารถและความพร้อมตั้งแต่เรื่องก่อสร้าง บริหาร ให้บริการ และมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดด้วย นอกจากนี้กำลังพิจารณาที่จะเพิ่มบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยเพื่อให้ครอบคลุมสมบูรณ์ทุกด้าน  

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในหลักการโครงการแลนด์บริดจ์ในปลายปี 2565 และหลังจากนี้จะดำเนินการโรดโชว์กับนักลงทุนต่างชาติต่อไป ซึ่งขณะนี้มีบริษัทผู้ประกอบการสายเดินเรือรายใหญ่ของโลกให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุน ส่วนการจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และการร่วมพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) หรือ พ.ร.บ.เอสอีซี คาดว่าคงต้องรอรัฐบาลหน้ามาขับเคลื่อนต่อ ซึ่งเป้าหมายของแลนด์บริดจ์จะเป็นเกตเวย์เชื่อมโยงฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย และอีอีซี ซึ่งปัจจุบันขีดความสามารถในการรองรับสินค้าของอีอีซียังไม่เต็มประสิทธิภาพ  

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ตามแผนงาน การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการแลนด์บริดจ์ นั้น สนข.จะสรุปข้อมูลเบื้องต้น รูปแบบที่เหมาะสม ความคุ้มค่า คุ้มทุน นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอครม.ขออนุมัติหลักการ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาแนวทางในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) หรือ พ.ร.บ.เอสอีซี จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเอสอีซี เพื่อเป็นหน่วยงานในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ที่ใช้ขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ในส่วนของ พ.ร.บ.เอสอีซีนั้นจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.อีอีซี เนื่องจากแนวทางในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ นั้นจะรวมแพกเกจการลงทุนระบบโลจิสติกส์ทั้งหมดเป็นโครงการเดียวกันทั้ง “ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ ระบบราง ระบบขนส่งทางท่อ” ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถวางแผนการลงทุนได้ดีกว่า และทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและจูงใจในการร่วมประมูลมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ได้มีกรอบแนวทางเบื้องต้นแล้ว เช่น การคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือพื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือพื้นที่แหลมริ่ว แนวเส้นทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ รวมถึงมีการลงพื้นที่ให้ข้อมูล ทำความเข้าใจประชาชนมาโดยตลอด คาดว่าในเดือน ธ.ค. 2565 จะสรุปร่างกรอบแนวคิดเบื้องต้นของโครงการทั้งหมดนำเสนอต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณา เพื่อนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป

“สนข.เร่งประมวลผลการศึกษา แนวคิดโครงการทั้งหมด องค์ประกอบ ความคุ้มค่า ความคุ้มทุน และแผนงาน รวมถึงแนวทางที่ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.เอสอีซีด้วย หาก ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการคาดว่าจะเริ่มการโรดโชว์โครงการได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 โดยจะเป็นการรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อนำมาประกอบการศึกษารายละเอียดการลงทุนและการจัดทำร่าง พ.ร.บ.เอสอีซี คาดว่าจะสรุปการศึกษาออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุภาพ (EHIA) และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการลงทุน นำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการในช่วงกลางปี 2566

รายงานข่าวระบุว่า ตามแผนการดำเนินงาน ภายหลัง ครม.อนุมัติโครงการคาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เอสอีซีต่อสภาเพื่อพิจารณาประมาณไตรมาส 4 ปี 2566 และคาดว่าสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เอสอีซีแล้วเสร็จและจัดตั้งสำนักงานเอสอีซีได้ในปลายปี 2567 โดย สนข.เตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2567 ประมาณ 10-20 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) โดยจัดจ้างที่ปรึกษาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ก่อสร้างโครงการช่วงปี 2568-2573

สำหรับการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน สนข.ว่าจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 67.8156 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาศึกษา 30 เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จประมาณไตรมาส 3 ปี 2566 โมเดลเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 400,000 ล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท

“ศักดิ์สยาม” สั่งเช็กตัวเลข “แลนด์บริดจ์” หวั่นสูงไปฉุด EIRR ต่ำ คาด ธ.ค.ชง ครม.เห็นชอบ-ต้นปี 66 ลุยโรดโชว์ต่างชาติ 

Scroll Up